Thailand Tax Updates - 26 July 2016
Thailand Tax Updates - 26 July 2016
ภาระภาษีธุรกิจแฟรนไชส์
ในปัจจุบันได้มีการนำธุรกิจที่ตนเองประกอบอยู่และประสบความสำเร็จ และธุรกิจของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มาให้สิทธิแก่ผู้สนใจลงทุนทำธุรกิจ ได้นำไปต่อยอดทำธุรกิจของตนเองที่เรียกว่า "ธุรกิจแฟรนไชส์" เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการขยายกิจการของทั้งเจ้าของแฟรนไชส์ และนักลงทุนรายใหม่
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1,500 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจสปา เป็นต้น ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ และส่งเสริมในเรื่องขององค์ความรู้และสนับสนุนการสร้างมาตรฐานแก่ระบบแฟรนไชส์ของไทย เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย และแน่นอนว่ารัฐได้ผลักดันให้ธุรกิจขยายไปสู่ตลาดกลุ่มอาเซียน
อย่างล่าสุด เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดกิจกรรมสร้างและขยายเครือข่ายทางการตลาดให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ที่กรุงย่างกุ้ง เมียนมาร์ โดยนำผู้ประกอบการแฟรนไชส์ของไทย เดินทางไปนำเสนอและเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจของเมียนมาร์ ซึ่งข่าวจากท่านอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทราบว่าผู้ประกอบกิจการไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
วันนี้เลยขอเขียนถึงภาระภาษีที่ผู้ประกอบกิจการไทยควรพิจารณา กรณีที่ผู้ประกอบการไทยมีรายได้จากธุรกิจเเฟรนไชส์จากต่างประเทศ โดยทั่วไปรายได้ที่มักเกิดขึ้นจากธุรกิจเเฟรนไชส์ ก็จะมีค่าเเฟรนไชส์ เพื่ออนุญาตให้ใช้ ชื่อ และสูตรลับ หรือ กรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้น รายได้นี้โดยทั่วไปในทางภาษีถือเป็น ค่าสิทธิ ( Royalty ) ซึ่งประเด็นหลักในเรื่องนี้ที่ต้องพิจารณาคือ ภาษี หัก ณ ที่จ่าย โดยประเทศผู้จ่ายเงิน ตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการไทย เรียกเก็บค่าเเฟรนไชส์ จากผู้ประกอบการเมียนมาร์ ตามกฎหมายภาษีในเมียนมาร์ ผู้ประกอบการเมียนมาร์จะต้องหักภาษีตามกฎหมายของเมียนมาร์ในอัตราร้อยละ 20 แต่ลดลงเหลือร้อยละ 15 ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับเมียนมาร์
กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการไทย เรียกเก็บ 100 ก็ จะได้รับ 85 เพราะ 15 ถูกหักเป็นภาษีที่เสียในเมียนมาร์ โดยผู้จ่ายเงินในเมียนมาร์จะทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลเมียนมาร์ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยหากเป็นนิติบุคคลก็ต้องนำรายได้ค่าแฟรนไชส์ 100 นั้นมาเป็นฐานรายรับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไทยที่อัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทยสามารถนำภาษีที่ถูกหักในเมียนมาร์ มาหักลดภาษีไทยได้แต่ไม่เกินภาษีไทยที่จะต้องเสียสำหรับเงินได้นั้น ซึ่งในกรณีนี้ก็จะไม่เกินเพราะเมียนมาร์หักไว้ที่ร้อยละ 15 ขณะที่อัตราภาษีไทยคือร้อยละ 20 กรมสรรพากรไทยจะอนุญาตให้นำภาษีที่จ่ายในต่างประเทศมาหักกลบภาษีไทยสำหรับเงินได้ก้อนเดียวกันได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ออกโดยหน่วยงานราชการเหมือนกรมสรรพากรไทยในต่างประเทศเท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นข้อหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทราบไม่ว่าจะถูกหัก ภาษีในต่างประเทศกรณีใดๆ จะต้องดำเนินการขอให้ผู้จ่ายเงินในต่างประเทศที่ทำการหักภาษีไปทำเรื่องขอหนังสือรับรองการหักภาษีจากหน่วยราชการที่จัดเก็บภาษีของประเทศนั้นๆมาให้ด้วย
นอกจากค่าแฟรนไชส์แล้วก็อาจจะมีค่าซื้อขายสินค้าเพราะบางครั้งก็มีกรณีที่กำหนดว่าผู้ให้แฟรนไชส์จะขายสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในกรณีซื้อขายสินค้าปกติจะไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยขายสินค้าจากประเทศไทยไปให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในต่างประเทศก็ต้องนำรายได้มารวมเพื่อเสียภาษีไทยเช่นกัน นอกจากค่าแฟรนไชส์ ค่าสินค้า ก็อาจจะมีค่าบริการในกรณีที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยให้บริการอื่นๆ ด้วยเช่นอาจจะให้บริการความช่วยเหลือแนะนำในเรื่องการฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น ค่าบริการโดยส่วนใหญ่จะไม่มีภาระภาษี หัก ณ ที่จ่ายตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งปัจจุบันไทยมีกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้น กัมพูชา และ บรูไน อย่างไรก็ดีข้อควรระวังก็คือว่า ไม่ควรจะเข้าไปให้บริการในต่างประเทศโดยตรง เช่น การฝึกอบรมอาจจะฝึกอบรมในไทย หรือหากต้องมีการให้บริการในด้านการให้คำแนะนำอื่นๆ ก็ควรดำเนินการผ่านทางออนไลน์ โดยไม่ควรเข้าไปทำในต่างประเทศ เพราะหากผู้ประกอบการไทยเข้าไปให้บริการในต่างประเทศโดยตรง อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยมีสาขาหรือสถานประกอบการถาวรขึ้นในต่างประเทศตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีในต่างประเทศ เสมือนหนึ่งเป็นกิจการของประเทศนั้น และจะตามมาด้วยภาระที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และรายงานต่างๆ
สิ่งที่นักธุรกิจควรต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือภาษีในต่างประเทศค่อนข้างจะมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างจากภาษีของประเทศไทย ซึ่งไม่อาจที่จะนำมากล่าวในรายละเอียด ณ ที่นี้ ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นเพียงบางส่วน ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ควรศึกษาและหาข้อมูลภาระภาษีของประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งจะช่วยให้ไม่มีภาระเพิ่มเติมในภายหลังอันเนื่องมาจากการไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายของต่างประเทศ การที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในต่างประเทศ อาจจะนำมาสู่ค่าปรับทางภาษีในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการในภายหลัง
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยมีกับประเทศสมาชิก กรณีค่าแฟรนไชส์
ประเทศสมาชิกผู้จ่ายเงิน |
อัตราภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ไม่เกิน ร้อยละ |
อินโดนีเซีย | 15 |
ลาว | 15 |
มาเลเซีย | 15 |
พม่า | 10-15 |
ฟิลิปปินส์ | 15-25 |
สิงคโปร์ | 15 |
เวียดนาม | 15 |
หมายเหตุ
* กัมพูชาและบรูไนหักตามกฎหมายภายในประเทศ
**ควรตรวจสอบอนุสัญญาภาษีซ้อนเพิ่มเติม
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.