Thailand Tax Updates - 27 February 2017
Thailand Tax Updates - 27 February 2017
ไทยลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายเหมาของผู้ประกอบการค้าบุคคลธรรมดา
นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายภาษีบุคคลธรรมดาครั้งใหญ่ซึ่งกฎหมายใหม่มีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 25560 เป็นต้นไป ถ้าดูในภาพรวมก็เป็นข่าวดีเพราะการแก้ไขรวมถึงการเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆให้สูงขึ้นซึ่งเป็นการแก้ไขที่สำคัญ อย่างไรก็ดีกฎหมายใหม่ก็มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาอยู่บ้าง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นที่ถูกใจของพนักงานเงินเดือนเพราะมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายเหมาให้แก่พนักงานเงินเดือนจากเดิมหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกิน 60,000 บาทเพิ่มเป็นไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งอาจจะมองว่ายังไม่มากนักเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในรอบเกือบ 30 ปี แต่ก็ถือว่าดีขึ้นสำหรับบุคคลที่มีรายได้หลักจากการเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้ในรูปเงินเดือน
ในทางกลับกันกฎหมายใหม่ไม่ได้ให้ผลที่ดีขึ้นในเรื่องการหักค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการค้าที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา เนื่องจากการแก้ไขครั้งนี้ได้มีการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (7) (รายได้จากการรับเหมา) และ (8) (รายได้จากการค้า) แห่งประมวลรัษฎากรให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 จากเดิมผู้ประกอบการค้าที่มีรายได้จากการค้าสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตราร้อยละ 75 – 80 ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ เช่นการขายสินค้าเดิมที่หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 80แต่ตามกฎหมายใหม่นับจาก 1 มกราคม 2560 จะหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกินร้อยละ 60 อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการค้าบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่พนักงานเงินเดือนสามารถเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนอัตราเหมาร้อยละ 60 ได้ หากเดิมผู้ประกอบการค้าใช้อัตราเหมาส่วนที่หายไปร้อยละ 20 ของรายได้ ถือว่ามีสาระสำคัญทีเดียว
นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการค้าคงต้องหันไปเลือกใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บเอกสารที่ดีเพราะต้องมีเอกสารเพื่อพิสูจน์รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงพร้อมให้กรมสรรพากรตรวจสอบ นอกจากนี้การหักค่าใช้จ่ายจริงในปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคลมาบังคับใช้ ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และกำหนดรายจ่ายต้องห้ามหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไว้ในมาตรา 65 ตรี นั้นหมายความว่าถ้าผู้ประกอบการค้าจะเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายจริง ผู้ประกอบการค้าจะต้องพิจารณาว่าการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเป็นไปตามเงื่อนไขและไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามหลักเดียวกับการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
นอกจากต้องมีการจัดระบบเอกสารที่ดีแล้วจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาว่ารายจ่ายใดจึงจะนำมาหักได้หรือไม่ได้ด้วย เพราะหากได้เลือกใช้หักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้ว ต่อมากรมสรรพากรตรวจพบว่าค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีผลให้ผู้ประกอบการค้าสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้แล้วผู้ประกอบการค้าไม่สามารถจะขอเปลี่ยนมาเลือกใช้อัตราเหมาที่มากกว่าได้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเอกสารและให้แน่ใจว่าสามารถนำมาหักได้จริง เมื่อต้องมีการจัดเก็บเอกสารและจัดการเรื่องการหักค่าใช้จ่ายแบบนิติบุคคลแล้วอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการค้าเปลี่ยนมาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมากขึ้นซึ่งก็จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการการขยายฐานภาษีอย่างยั่งยืนในระยะยาว และปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลของนิติบุคคลได้มากกว่าบุคคลธรรมดา
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาแล้ว ปัจจุบันอัตราภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้แล้ว ดังนั้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียรวมอยู่ที่ร้อยละ 28 ของกำไรสุทธิ ขณะที่อัตราภาษีสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือร้อยละ 35 สำหรับเงินได้ที่เกิน 5 ล้านบาท เมื่อลองคำนวณเปรียบเทียบภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายที่เท่ากัน พบว่าภาระภาษีจะเท่ากันที่รายได้สุทธิ 7 ล้านบาท กล่าวคือหากมีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายจริงจำนวน 7 ล้านบาทบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีคิดเป็นร้อยละ 28 ของรายได้สุทธิซึ่งเท่ากับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผล ร้อยละ 28 ของรายได้สุทธิ เช่นกัน แต่ถ้าผู้ประกอบการค้าเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กคือ มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในวันสุดท้ายของรอบบัญชีจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบจากฐานรายได้สุทธิที่เท่ากันคือ 7 ล้านบาท ภาระภาษีของกิจการขนาดย่อมจะอยู่ที่อัตราประมาณร้อยละ 26 ของรายได้สุทธิ ดังนั้นถ้ากิจการเป็นขนาดย่อมที่เข้าเงือนไขการใช้สิทธิอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทีลดลงการประกอบการค้าในรูปนิติบุคคลน่าจะดีกว่า
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อดีในการดำเนินกิจการค้าในรูปนิติบุคคลก็คือ หากในระยะเริ่มแรกกิจการมีค่าใช้จ่ายจริงที่มากกว่ารายได้ หรือบางปีการประกอบกิจการไม่เป็นไปตามเป้ามีผลขาดทุน นิติบุคคลสามารถนำขาดทุนที่เกิดขึ้นไปหักออกจากกำไรในปีถัดมาได้ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งกรณีบุคคลธรรมดาจะไม่สามารถนำขาดทุนไปใช้ในปีถัดไปได้ นอกจากนี้หากกิจการจะขยายธุรกิจโดยการขายสินค้าหรือให้บริการข้ามประเทศ การเป็นนิติบุคคลอาจจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเพราะลูกค้าสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลของนิติบุคคลได้
© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.
KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity. Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.