EEC ยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่โดดเด่นใน AEC
EEC ยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่โดดเด่นใน AEC
ข่าวกลุ่มบริษัทอาลีบาบา e-commerce รายใหญ่จากประเทศจีน ประเดิมลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EASTERN ECONOMIC CORRIDOR (EEC) เป็นก้าวกระโดดของจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
โครงการ EEC มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวที่ทันสมัย โดยเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 และเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาพื้นที่ EEC สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม และพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับพื้นที่ มาตรการส่งเสริมของรัฐบาลและ BOI ประกอบไปด้วยสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ทางภาษี รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน
วันนี้จะเขียนถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีว่าถ้าลงทุนใน EEC แล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีอย่างไร ภายใต้การส่งเสริมของ BOI ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจเป้าหมายจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 -13 ปี ตามประเภทของกิจการและเทคโนโลยีที่ใช้ แต่ถ้าประกอบกิจการใน EEC ด้วยก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็นยกเว้นสูงสุดได้ถึง 15 ปี และยังได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ ซึ่งปัจจุบันอัตราปกติคือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายใต้การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมใน EEC ยังได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ ซึ่งนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออก และของที่นำเข้ามาเพื่อการวิจัยและพัฒนา
นอกจากสิทธิประโยชน์จาก BOI รัฐบาลยังได้ตราพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 641) พ.ศ. 2560 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ของลูกจ้างระดับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจัย ซึ่งมีคุณสมบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานในพื้นที่ดังกล่าวโดยได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจัดเก็บในอัตรา 17% ของเงินได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยระดับโลกให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ดังกล่าวในประเทศไทยเพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่คนไทย โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าลูกจ้างดังกล่าวต้องได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยต้องเป็นการจ่ายในประเทศไทยทั้งจำนวน และจำนวนที่จ่ายต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน (ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า ฯลฯ ซึ่งต้องกำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานอย่างชัดเจน)
นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้ต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นั้น เว้นแต่ในปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันในปีภาษีนั้นก็ได้ ผู้มีเงินได้จึงต้องอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 6 เดือน ไม่ใช่เข้ามาในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้น
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า AEC ไม่ได้มีผลต่อระบบภาษีภายในประเทศ ซึ่งทำให้มีการเล็งเห็นว่ามาตรการส่งเสริมทางด้านภาษีจะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในอาเซียนหรือใช้ประเทศสมาชิกในอาเซียนเป็นฐานเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC จึงนับได้ว่า โครงการ EEC น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนที่ทำให้ไทยโดดเด่นใน AEC เป็นตัวเชื่อมไทยสู่ AEC และ โลก อย่างไรก็ดี สิทธิประโยชน์ทางภาษี จะไม่ดึงดูด หากขาดปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งเสริม เช่น ความยากง่ายในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งรัฐก็เล็งเห็นจึงจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในระบบ one –stop services อีกทั้งแผนพัฒนาอื่น เช่นการพัฒนาถนนเพื่อให้การขนส่งระหว่างพรมแดนสามารถเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อบ้านได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานในอาเซียนให้แก่นักลงทุนได้
อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมดิจิตอล
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร