มาเลเซียยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม และการเปลี่ยนแปลงภาษีมูลค่าเพิ่มของสิงคโปร์

มาเลเซียยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม

จากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในมาเลเซีย ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาเลเซียได้ประกาศลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาเลเซียเรียกว่า GST: Good and Service Tax ) จากร้อยละ6 เป็นร้อยละ ศูนย์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา และต่อมาได้ประกาศยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มโดยจะนำภาษีสินค้าและบริการ (SST:  Sale Tax and Service Tax)  มาใช้แทนโดยจะมีผลตั้ง แต่วันที่ 1 กันยายน 2561

ทั้งนี้ มาเลเซียเพิ่งจะเริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2558 เท่ากับว่าเป็นการนำระบบภาษีสินค้าและบริการเดิมกลับมาใช้ ความแตกต่างของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีสินค้าและบริการ คือ ภาษีสินค้าและบริการจะถือเป็นต้นทุนของกิจการ กิจการไม่สามารถนำภาษีสินค้าและบริการที่กิจการได้ชำระไปมาหักลบกลบได้แบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ภาษีสินค้าใช้บังคับสำหรับการขายสินค้าที่ผลิตในมาเลเซีย และสินค้าที่นำเข้ามาในมาเลเซีย โดยอัตราภาษีสินค้า คือ ร้อยละ 5 และ 10 ส่วนภาษีบริการใช้บังคับสำหรับการบริการที่กฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีบริการโดยอัตราภาษีบริการ คือร้อยละ 6 (เดิมภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 6 ใช้บังคับทั้งสินค้าและบริการ) 

ทั้งนี้กิจการที่อยู่ในบังคับภาษีสินค้าและบริการจะต้องนำส่งภาษีทุก ๆสองเดือน กรณีรายได้จากการขายสินค้ากิจการจะต้องเสียภาษีสินค้าจากการขายสินค้าตามเกณฑ์สิทธิ์กล่าวคือภาระภาษีเกิดขึ้นแล้วแม้ว่ายังไม่ได้รับชำระเงิน ส่วนรายได้จากการบริการ ภาษีบริการจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการ ในส่วนของหลักเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ต้องจดทะเบียนภาษีสินค้าและบริการ คือกิจการที่มีรายได้เกินห้าแสนริงกิต อย่างไรก็ดีกิจการที่ปัจจุบันอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของมาเลเซียอยู่แล้วอาจจะอยู่ในบังคับต้องจดทะเบียนภาษีสินค้าและบริการไปโดยปริยาย เมื่อมีการเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่มกิจการที่มีภาษีซื้อจะยังสามารถทำการขอคืนภาษีซื้อได้ภายใน 120 วันหลังจากภาษีสินค้าและบริการมีผลบังคับใช้ ดังนั้นหากกิจการไทยมีกิจการที่ประกอบธุรกิจอยู่ในมาเลเซียจะต้องเร่งพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และปฏิบัติตามกฎหมายภาษีสินค้าและบริการที่นำมาใช้ใหม่ รวมทั้ง ทำการขอคืนภาษีซื้อที่ค้างอยู่ให้หมดภายในกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ต่อไป

กิจการไทยที่มีธุรกรรมกับบริษัทในมาเลเซีย อาจจะไม่มีผลกระทบโดยตรง เว้นไว้แต่ว่าถ้าเป็นกรณีรายจ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทมาเลเซียสำหรับค่าสินค้าหรือบริการที่อาจไม่เข้าข้อยกเว้นภาษีสินค้าและบริการในมาเลเซีย ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการในมาเลเซียอาจจะต้องการปรับราคาเพื่อชดเชยภาระภาษีสินค้าหรือบริการที่ต้องชำระในมาเลเซีย เป็นต้น  อย่างไรก็ดีกิจการไทยที่มีรายการระหว่างประเทศกับมาเลเซียอาจพิจารณาและประเมินว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีในมาเลเซียดังกล่าว

ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม เร็ว ๆ นี้สิงคโปร์มีการประกาศว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มจากอัตราร้อยละ 7 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 9 ในระหว่างปี 2564 – 2568  และมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 สิงคโปร์จะมีการนำระบบ Reverse charge มาใช้กับการนำเข้าบริการ  ระบบ Reverse charge  คือการกำหนดให้กิจการในสิงคโปร์จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีได้รับบริการจากต่างประเทศ เช่น บริษัทไทยให้บริการที่ปรึกษาแก่บริษัทสิงคโปร์  เมื่อบริษัทสิงคโปร์ชำระค่าบริการให้บริษัทไทยถือว่าบริษัทสิงคโปร์นำเข้าบริการและต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐบาล ซึ่งถือเป็นภาษีซื้อของกิจการสิงคโปร์ที่กิจการอาจจะนำไปหักกลบกับภาษีขายหรือขอคืนได้  อย่างไรก็ดีการนำส่งภาษีตามระบบ Reverse charge  นี้เป็นการเพิ่มจำนวนภาษีซื้อ อาจทำให้บริษัทที่มีภาษีซื้อเกินอยู่เป็นส่วนใหญ่จะมีภาษีเกินมากขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อ Cash flow ได้ หรือกรณีที่กิจการเป็นกิจการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มได้ อย่างไรก็ดีระบบ  Reverse charge  ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลาย ๆประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งไทยก็ใช้อยู่ 

ในส่วนของประเทศไทยดูเหมือนว่ามีแนวโน้มว่า  ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยจะยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7  เช่นเดิมหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2561โดยคาดว่าจะมีการขยายเวลาอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีกหนึ่งปี กล่าวคือ ยังคงใช้อัตรา ร้อยละ 7 ต่อไปอีกจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562  เนื่องจากรัฐยังต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ  เพราะการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อกำลังการใช้จ่าย เนื่องจากผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  

Connect with us