มาเลเซีย: การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562
Thailand Tax Updates - 26 November 2018
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน มาเลเซียได้มีการประกาศข้อเสนองบประมาณของปี 2562 ซึ่งมีอยู่หลายรายการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในมาเลเซีย ทั้งบุคคลที่เป็นคนมาเลเซียหรือ กรณีชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานและมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีให้แก่มาเลเซีย
เรื่องแรกได้แก่ การเพิ่มการหักลดหย่อนสำหรับเงินสมทบที่ผู้เสียภาษีจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ในปัจจุบัน ผู้เสียภาษีในมาเลเซียทั้งคนมาเลเซีย และคนต่างชาติสามารถหักค่าลดหย่อน ในส่วนนี้ได้รวมกันไม่เกิน 6,000 ริงกิต ซึ่งตามข้อเสนอใหม่เพื่อส่งเสริมการออมซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับปีภาษี 2562 เป็นต้นไป ค่าลดหย่อนในส่วนนี้จะเพิ่มจาก 6,000 ริงกิต เป็น 7,000 ริงกิต แต่จะมีการกำหนดให้เป็นค่าลดหย่อนกรณีการจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เกิน 4,000 ริงกิต และลดหย่อนสำหรับการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตไม่เกิน 3,000 ริงกิต ซึ่งการเปลี่ยนให้เป็นการกำหนดแยกเป็นสองส่วนอาจทำให้ผู้เสียภาษีที่เป็นคนต่างชาติที่ไม่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจได้ใช้สิทธิลดหย่อนน้อยลง เพราะจากเดิมที่สามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้ไม่เกิน 6,000 ริงกิตก็จะกลายเป็น หักได้ไม่เกิน 3,000 ริงกิต ซึ่งก็จะทำให้มีภาระภาษีเพิ่ม 840 ริงกิตโดยประมาณ
เรื่องที่สอง คือ การเพิ่มการหักลดหย่อนสำหรับเงินที่ผู้เสียภาษีที่เป็นคนมาเลเซียจ่ายเข้ากองทุน SSPN (The National Education Saving Schemes) ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนให้ครอบครัวออมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรในขั้นสูงต่อไป ซึ่งจากเดิมสามารถหักค่าลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6,000 ริงกิต เพิ่มเป็นไม่เกิน 8,000 ริงกิต โดยจะมีผลสำหรับปีภาษี 2562 ถึง 2563 เรื่องนี้จะใช้กับบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศมาเลเซียเท่านั้น
เรื่องที่สาม เรื่องการลดอัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายโดยลูกจ้างชาวมาเลเซียที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จากเดิมที่ลูกจ้างต้องจ่ายสมทบที่อัตราร้อยละ 5.5 ของค่าจ้างและ นายจ้างต้องจ่ายสมทบที่อัตราร้อยละ 6 ของค่าจ้างเป็น ร้อยละ 0 สำหรับลูกจ้าง และ ร้อยละ 4 สำหรับนายจ้าง กล่าวคือลูกจ้างที่อายุเกิน 60 ปีจะไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเพียงนายจ้างเท่านั้นที่จ่ายสมทบโดยอัตราลดลงจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 4 โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในเรื่องนี้จะไม่มีผลต่อผู้เสียภาษีต่างชาติที่เข้ามาทำงานในมาเลเซียเพราะการจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับใช้เฉพาะกับคนมาเลเซียเท่านั้น
เรื่องที่สี่ คือการแก้ไขอัตราภาษีสำหรับกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือจากการขายหุ้นในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอัตราภาษีขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ถือครองและสัญชาติรวมทั้งการมีถิ่นที่อยู่ถาวรของผู้ขาย กล่าวคือ ปัจจุบันกรณีผู้ขายที่เป็นคนสัญชาติมาเลเซียหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในมาเลเซียหากขายภายในสามปีอัตราภาษีของกำไรจากการขายคือ ร้อยละ 30 และจะลดเป็นร้อยละ 20 ร้อยละ 15 หากขายในปีที่สี่ และห้าตามลำดับ แต่ถ้าขายในปีที่หกและปีต่อๆ ไป อัตราภาษีจะเป็นศูนย์ ซึ่งการแก้ไขที่จะมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2562 คือให้แก้ไขอัตราภาษีโดยเพิ่มอัตราภาษีถ้าขายในปีที่หกและปีต่อๆ ไป จากอัตราศูนย์ เป็นอัตราร้อยละ 5 ส่วนกรณีผู้ขายที่ไม่ใช่คนสัญชาติมาเลเซีย ปัจจุบันจะเสียภาษีบนกำไรในอัตราเดียว คือร้อยละ 30 หากขายภายในห้าปี แต่ถ้าขายในปีที่หกและปีต่อๆ ไป อัตราภาษีจะเป็นร้อยละ 5 ซึ่งการแก้ไขที่จะมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2562 คือแก้ไขอัตราภาษีถ้าขายในปีที่หกและปีต่อๆ ไป จากอัตราร้อยละ 5 เป็น อัตราร้อยละ 10
เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงแม้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงด้านภาระภาษี แต่ก็อาจมีผลทำให้กิจการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกรณีที่พนักงานมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกมาเลเซียเป็นประจำ เนื่องจากมีข้อเสนอให้ ผู้เดินทางทางอากาศที่เดินทางออกจากมาเลเซียจะ ต้องชำระภาษีเดินทางทุกครั้งในอัตรา 20 ริงกิต กรณีเดินทางจากมาเลเซียไปประเทศในอาเซียน และในอัตรา 40 ริงกิต กรณีเดินทางออกจากมาเลเซียไปประเทศอื่นนอกจากอาเซียน ซึ่งจะมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2562 เช่นกัน แม้จำนวนจะไม่มาก แต่ก็อาจทำให้กิจการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกรณีกิจการจำเป็นต้องให้พนักงานเดินทางเป็นประจำ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระภาษีมากนักแต่ก็เป็นเรื่องที่กิจการที่มีการลงทุนในมาเลเซีย และบุคคลที่ทำงานมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีในมาเลเซียควรจะติดตามการแก้ไขและพิจาณาว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อกิจการหรือตนเองอย่างไร
Connect with us
- Find office locations kpmg.findOfficeLocations
- kpmg.emailUs
- Social media @ KPMG kpmg.socialMedia