ภาระภาษีที่พนักงานไทยควรรู้เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศเมียนมา

Thailand Tax Updates - 30 May 2019

เมื่อพนักงานไทย (รวมถึงพนักงานต่างประเทศ) ถูกบริษัทส่งไปทำงานในประเทศเมียนมา ไม่ว่าทำงานแบบชั่วระยะเวลาสั้นๆ หรือแบบระยะยาว นอกจากที่พนักงานจะต้องเตรียมตัวไม่ว่าจะทางด้านภาษา วัฒนธรรม และการทำวีซ่าเพื่อไปทำงานแล้ว ภาระภาษีที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการทำงานในประเทศเมียนมาก็เป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานไทยควรรู้ เพราะมีผลต่อรายได้ที่พนักงานจะได้รับหลังจากถูกหักภาษีดังกล่าว 

ภาระภาษีที่พนักงานไทยควรรู้เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศเมียนมา

ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้จากการทำงานให้นายจ้างในประเทศเมียนมามีดังต่อไปนี้

1.  การเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษี

การเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีของประเทศเมียนมา จะพิจารณาจากระยะเวลาการเข้ามาทำงานในประเทศเมียนมาทั้งหมดในรอบปีภาษี หากพนักงานอยู่ในประเทศเมียนมาตั้งแต่ตั้งแต่ 183 วัน ขึ้นไป ในปีที่มีเงินได้ ในรอบปีภาษีใดๆ พนักงานดังกล่าวจะถือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาในรอบปีภาษีนั้นทันที

ปัจจุบัน กรณีบุคคลธรรมดา รอบปีภาษีของประเทศเมียนมาเริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี

2.  เงินได้ในการคำนวณภาษี

ในกรณีที่พนักงานที่มีสถานะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมา เงินได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในหรือนอกประเทศเมียนมาที่พนักงานได้รับในรอบปีภาษีนั้น จะถูกมารวมเป็นฐานภาษีเพื่อคำนวณเสียภาษีในประเทศพม่า (Worldwide sourced  income)

ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่มิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาอันเนื่องจากการอยู่ในประเทศเมียนมาระยะเวลาทั้งหมดน้อยกว่า 183 วัน ในรอบปีภาษี จะถูกจัดเก็บภาษีเฉพาะจากเงินได้ที่พนักงานได้รับอันเนื่องจากการทำงานในเมียนมาเท่านั้น (Myanmar sourced income)

ในทางปฏิบัติ เงินได้บางประเภทเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาอาจเห็นว่าเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น ค่าที่พักของลูกจ้างโดยนายจ้างได้ทำสัญญากับผู้ให้เช่าและชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรง หรือค่าเดินทางที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามจริง เป็นต้น

3.  ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศเมียนมาอาจหักค่าลดหย่อนตามอัตราที่กำหนดในตาราง ดังต่อไปนี้

ประเภทค่าลดหย่อน

จำนวนค่าลดหย่อน (จ๊าด)

ผู้มีเงินได้

ร้อยละ 20 ของเงินได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 10 ล้าน (ประมาณ 200,000 บาท)

คู่สมรส

1,000,000 (ประมาณ 20,000 บาท)

บุตร (ต่อคน)

500,000 (ประมาณ 10,000 บาท)

บิดามารดา (ต่อคน)

1,000,000 (ประมาณ 20,000 บาท)

 

4.  อัตราภาษี

ประเทศเมียนมาจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า ดังต่อไปนี้

เงินได้ (จ๊าด)

อัตราภาษี

 1 – 2,0000,000

0%

 2,0000,001 - 5,0000,000

5%

 5,0000,001 - 10,0000,000

10%

 10,0000,001 - 20,0000,000

15%

 20,0000,001 - 30,0000,000

20%

ตั้งแต่ 30,0000,001 ขึ้นไป

25%

 

5.  ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษี

นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีแทนลูกจ้างภายในวันที่ 7 นับจากวันที่หักภาษีจากเงินเดือนของลูกจ้าง อีกทั้งยื่นแบบภาษีเงินได้แบบรายปีของลูกจ้างภายใน 3 เดือน เมื่อสิ้นรอบปีภาษี ในกรณีที่ลูกจ้างมีเงินได้จากการทำงานให้แก่นายจ้างเพียงอย่างเดียว ลูกจ้างดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยื่นแบบภาษีเองแต่อย่างใด

ในทางปฏิบัติ นายจ้างอาจยื่นเสียภาษีเป็นรายไตรมาส (ภายใน 7 วันของทุกๆ สามเดือน) เมื่อได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่สรรพากรในเขตพื้นที่ซี่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่

6.  สิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน

ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศเมียนมามีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างกัน ภายใต้ข้อ 15 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนดังกล่าว ภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้อันเนื่องการจ้างงานอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศเมียนมา หากปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดที่อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดไว้ และได้รับการรับรองสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาอีกด้วย ดังนั้น นายจ้างในฐานะตัวแทนของลูกจ้างจะต้องยื่นคำขอ พร้อมทั้งเอกสารประกอบ เช่น สัญญาจ้างงาน รายละเอียดระยะเวลาการเข้ามาทำงานของลูกจ้าง และหนังสือยื่นยันการเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในรอบปีภาษีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ไปยังเจ้าหน้าที่สรรพากรของเมียนมาโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ลูกจ้างควรได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดไว้หรือไม่ และตอบกลับไปยังนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะอนุมัติให้ลูกจ้างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศเมียนมาหรือไม่

จากที่กล่าวมาข้างต้น พนักงานไทยรวมถึงนายจ้างควรทำความเข้าใจภาระภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาอันเนื่องมาจากการที่ลูกจ้างเข้าไปทำงานในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะระยะเวลาที่เข้าไปทำงานและอยู่ในประเทศเมียนมาเนื่องจากจะมีผลต่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาอีกด้วย

Connect with us