EN | TH
ในเดือนมกราคม 2568 สถาบันผู้ตรวจสอบภายในสากล (IIA) ได้ออกมาตรฐานการตรวจสอบภายในสากล ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2568 มาตรฐานฉบับใหม่นี้ได้รวมเอกสารหลายฉบับที่เคยแยกเป็นคู่มือการบังคับใช้และคำแนะนำในการปฏิบัติจากมาตรฐานปี 2017 ให้อยู่ในเอกสารฉบับเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมด โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้
มาตรฐานการตรวจสอบภายในสากล - การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
นำเสนอแนวคิดใหม่ เรื่อง “เงื่อนไขสำคัญ” (มาตรฐานที่ 6.1 ถึง 8.4) กำหนดบทบาทของ หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Chief Audit Executive: CAE) ในการสนับสนุนการกำกับดูแลของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ต้องพัฒนากลยุทธ์การตรวจสอบภายในที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยต้องมีวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และแผนงานที่ชัดเจน
แผนการตรวจสอบภายในต้องอ้างอิงจากการประเมินกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และความเสี่ยงขององค์กร โดยหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ควรประสานงานกับผู้ให้บริการให้ความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อลดความซ้ำซ้อนและระบุช่องว่างในการบริหารความเสี่ยง
ผลการตรวจสอบต้องจัดลำดับความสำคัญตามระดับความสำคัญ การให้คะแนนไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่แนะนำให้นำไปปฏิบัติ โดยแนะนำให้ใช้เรตติ้งสเกล (rating scale) เช่น
พึงพอใจ พึงพอใจบางส่วน ต้องปรับปรุง หรือไม่พึงพอใจ เป็นต้น
หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ในการวัดผลการปฏิบัติงานของฝ่ายตรวจสอบภายใน โดยพิจารณาความเห็นจากคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ต้องมั่นใจว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบภายใน
การประเมินคุณภาพจากผู้ประเมินภายนอกองค์กรเป็นข้อบังคับทุกๆ 5 ปี โดยองค์กรอาจจัดการประเมินตนเองร่วมกับการมีผู้สอบยันอิสระ โดยคณะกรรมการต้องทบทวนผลการประเมิน และทีมประเมินต้องมีผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาต (Certified Internal Auditor: CIA) อย่างน้อยหนึ่งคน
แนวทางการดำเนินงานที่ควรพิจารณา
- วิเคราะห์ความแตกต่าง (Gap analysis) เปรียบเทียบกับมาตรฐานใหม่ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น รวมถึงระบุการเตรียมความพร้อมที่ต้องดำเนินการสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานใหม่
- จัดทำแผนการดำเนินงาน (Action plans) เพื่อแก้ไขข้อแตกต่างให้สอดคล้องกับมาตรฐาน โดยแผนการดำเนินงานควรประกอบด้วยรายละเอียดการดำเนินงานที่ตกลงร่วมกัน การกำหนดผู้รับผิดชอบ และการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับระดับความสำคัญที่กำหนด
- สื่อสารและเผยแพร่แผนการดำเนินงาน หรือแผนปฏิบัติการให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบรับทราบ พร้อมทั้งสื่อสารและอัปเดตข้อมูลเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา
- ดำเนินการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ โดยผู้ตรวจสอบภายในควรเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อกำหนดต่าง ๆ
- หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน (CAE) ควรจัดการประชุมร่วมกับคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เพื่อหารือเกี่ยวกับ “เงื่อนไขสำคัญ” ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน
ประเด็นสำคัญสำหรับหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในและคณะกรรมการตรวจสอบ
- การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของมาตรฐาน มีอะไรบ้าง และหน่วยงานตรวจสอบภายในจะปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ได้อย่างไร
- หน่วยงานตรวจสอบภายในมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับการปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่หรือไม่
- ทรัพยากรใดบ้าง (บุคคล กระบวนการ เทคโนโลยี) ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการตามมาตรฐานใหม่ และหน่วยงานตรวจสอบภายในมีทักษะที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวหรือไม่
- แผนการฝึกอบรมหรือการพัฒนาวิชาชีพใดที่จำเป็นสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ ผู้บริหารระดับสูง) ตระหนัก ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน และให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานหรือไม่
Key contacts
Why work with KPMG in Thailand
KPMG in Thailand, with more than 2,500 professionals offering Audit and Assurance, Legal, Tax, and Advisory services, is a member firm of the KPMG global organization of independent member firms affiliated with KPMG International Limited, a private English company limited by guarantee.